เริ่มลงทุนด้วยการลงทุนแบบ DCA ที่ใคร ๆ ก็สามารถลงทุนได้
DCA (Dollar-Cost Averaging)” วิธีการลงทุนที่จะมาช่วยลดความผันผวนในระยะยาว มือใหม่ก็สามารถลงทุนได้ ลดโอกาสขาดทุนจากการลงทุน แถมยังช่วยให้เงินออมงอกเงยขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และลดความเสี่ยงที่นักลงทุนมือใหม่จะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในการลงทุน
DCA คืออะไร ทำไมถึงน่าลงทุน?
DCA (Dollar-Cost Averaging) เป็นวิธีการลงทุนรูปแบบหนึ่ง ที่ถัวเฉลี่ยต้นทุน โดยนักลงทุนจะทำการลงทุนอย่างต่อเนื่องในแต่ละงวด ด้วยเงินลงทุนจำนวนเท่าๆกันอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นงวดรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายไตรมาส โดยไม่คำนึงถึงราคาของสินทรัพย์ลงทุน ณ ขณะนั้น เป็นการตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไป จึงช่วยตัดปัญหาความกังวลที่ว่าควรจะเข้าลงทุนเมื่อไหร่ถึงจะได้ราคาถูก และควรลงทุนเท่าไหร่ถึงจะคุ้มค่าที่สุด ทำให้ลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว
หากกล่าวโดยให้เห็นภาพยิ่งขึ้นก็คือ การลงทุนแบบ DCA มีรูปแบบคล้ายคลึงกับการออมเงินผ่านบัญชีฝากประจำที่เราคุ้นเคย เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการลงทุนในหุ้น หรือ กองทุนรวมแทนนั่นเอง
DCA เหมาะกับใคร
- เหมาะกับคนที่ต้องการสร้างวินัยในการออมและการลงทุน
- เหมาะกับมือใหม่ เริ่มลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อยๆ
- เหมาะกับคนที่ต้องการสร้างโอกาสจากการลงทุนในระยะยาว
- เหมาะกับคนที่ต้องการลดความผันผวนของราคา (โอกาสขาดทุนจากการลงทุนไม่ถูกจังหวะ)
- เหมาะกับคนที่ไม่มีเวลาติดตามข่าวสาร ภาวะตลาด
มือใหม่ก็สามารถลงทุน DCA ได้!
การลงทุนแบบ DCA นั้น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ยังขาดความชำนาญในการจับจังหวะการลงทุน เพราะ DCA เป็นการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนจากการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และยังสร้างวินัยการออมและการลงทุนให้กับนักลงทุน ฉะนั้นมือใหม่หัดลงทุนจึงหายห่วงไปได้เลยว่าจะลงทุนทิ้งเสียเปล่า
มือใหม่จะเริ่มต้นลงทุน DCA ต้องทำอย่างไร ?
เมื่อเข้าใจรูปแบบการลงทุนของ DCA แล้ว ก็ถึงเวลาเตรียมตัวสำหรับการลงทุน โดยนักลงทุนมือใหม่ควรจะทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. สำรวจความสามารถในการลงทุน และกำหนดจำนวนเงินลงทุนในแต่ละงวด
2. เลือกช่วงเวลาที่จะ DCA เช่น ทุกวันที่ 30 ของทุกเดือน ทุกวันอังคาร หรือ ทุกๆ สามเดือน เป็นต้น และสำหรับมนุษย์เงินเดือนนั้น แนะนำให้เลือกช่วงสิ้นเดือนหลังเงินเดือนออก โดยตัดเงินลงทุนอัตโนมัติจากบัญชีเงินเดือน เพื่อสร้างวินัยไม่ให้นักลงทุนนำเงินส่วนลงทุนไปปนกับเงินใช้จ่ายส่วนตัวจนลืมตัว (เป็นวิธีที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เก็บเงินไม่ค่อยอยู่)
3. เลือกหลักทรัพย์ที่ต้องการลงทุน บางคนเลือกลงทุนในหุ้น บางคนลงทุนในกองทุนรวม จะเลือกรูปแบบไหนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนว่าหลักทรัพย์นั้นๆ มีพื้นฐานดี หรือมีโอกาสเติบโตแค่ไหน หรือจะเลือกกระจายความเสี่ยง DCA ก้อนเล็กๆ ในหลายๆ สินทรัพย์ก็ได้เช่นกัน
เคล็ด(ไม่)ลับ : ขึ้นอยู่กับผู้ลงทุนว่าต้องการจะ “DCA ในอะไร” เพราะหลักการสำคัญ คือ นักลงทุนจะต้องเลือกสินทรัพย์ที่ต้องการจะลงทุนก่อนเป็นอันดับแรก และสินทรัพย์นั้นควรจะมีการเติบโตของธุรกิจ หรือเป็นสินทรัพย์ที่ดี ที่จะสามารถจ่ายปันผลให้แก่นักลงทุนได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
แม้แต่ DCA ก็มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด
อย่าลืมว่าการลงทุนยังมีความเสี่ยงอื่นๆ อยู่อีก เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นการลงทุนแล้ว ล้วนมีความเสี่ยง ดังนั้น การลงทุนใดใดก็ตาม จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย มาดูกันว่าข้อดีและข้อเสียของการลงทุน DCA เป็นอย่างไร?
ข้อดีของการลงทุน DCA
การลงทุน DCA นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเข้าซื้อผิดจังหวะแล้ว ข้อดีอีกอย่างที่สำคัญมากก็คือการสร้างวินัยในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ นำเงินมาออมและลงทุนก่อนนำไปใช้ โดยไม่เอาอารมณ์มาเป็นเครื่องชี้นำการลงทุนโดยไม่ต้องกลัวว่าสินทรัพย์จะขึ้นหรือจะลงแม้ในสภาวะตลาดผันผวน ซึ่งจะทำให้เรามีทัศนคติที่ดีต่อการลงทุน มองว่าการปรับตัวลงของตลาดคือโอกาสในการช้อนซื้อสินทรัพย์ราคาถูก แทนที่จะมากังวลว่าขาดทุนไปเท่าไรแล้ว เพราะเรามีการกำหนดไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะลงทุนตามวันที่กำหนดไว้โดยไม่สนใจในสภาวะตลาดนั่นเอง
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ รู้หรือไม่ว่าการกระจายลงทุนตามช่วงเวลาแบบนี้ทำให้การลงทุน DCA ลดความเสี่ยงด้าน Market Timing หรือการเลือกช่วงเวลาการลงทุน เพราะจะช่วยกระจายระยะเวลาการลงทุนออกไป ทำให้ราคาสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนนั้นมีหลากหลายราคา ซึ่งจะเป็นการเฉลี่ยต้นทุนของสินทรัพย์ออกไปด้วย
ข้อจำกัดของการลงทุน DCA
แม้ว่าการลงทุนแบบ DCA จะช่วยลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะลงทุน แต่หลักการคำนวณ DCA แบบถัวเฉลี่ยเช่นนี้ ในบางครั้งก็อาจถัวกำไรให้น้อยลงได้เช่นกัน ดังนั้นการลงทุนด้วยวิธีนี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการลงทุนเท่านั้น วิธีการลงทุนแบบคำนวณ DCA จึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักลงทุนมืออาชีพที่สามารถจับจังหวะการลงทุนได้แม่นยำ เพราะจะเสียโอกาสเข้าซื้อก้อนใหญ่ในจุดที่ราคาน่าลงทุนที่สุด
นอกจากนี้สินทรัพย์บางอย่างก็ไม่เหมาะกับการทำ DCA เช่น การลงทุนในกองทุนที่ความผันผวนต่ำ ก็ไม่จำเป็นต้องเฉลี่ยการลงทุน หรือการลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาขึ้นลงไม่แน่นอน หากราคาเป็นวัฏจักรแบบนี้ควรหาโอกาสลงทุนเป็นครั้งคราวเพื่อทำกำไรระยะสั้นจะดีกว่า
ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าลงทุนในกองทุนรวมด้วยวิธี DCA เราจะสามารถซื้อหน่วยลงทุนได้มากขึ้นเมื่อราคากองทุนอยู่ในช่วงขาลง แต่หากราคากองทุนปรับตัวสูงขึ้นเราก็จะซื้อหน่วยลงทุนได้น้อยลง เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้นทุนการซื้อกองทุนของเราก็จะถูกเฉลี่ยกันไป สรุปได้ว่าแม้เราจะไม่ได้ซื้อกองทุนในราคาที่ถูกที่สุด แต่เราก็ไม่ได้ซื้อในราคาสูงที่สุดเช่นกัน เป็นการช่วยลดความเสี่ยงของการขาดทุนไปในตัว
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว นักลงทุนมือใหม่ก็คงจะเข้าใจแล้วว่าการลงทุนแบบ DCA นั้น เหมาะกับมือใหม่หัดลงทุนมากขนาดไหน อย่ารอช้าหากเตรียมตัวพร้อมแล้ว ให้หยวนต้าเป็นผู้ช่วยดูแลการลงทุนนี้ให้กับคุณ หากสงสัยหรือสนใจ ต้องการให้หยวนต้าดูแลและเป็นที่ปรึกษาการลงทุนของคุณ สามารถติดต่อสอบถามเราได้ทุกช่องทางการติดต่อ