นักลงทุนหลายๆ คนอาจจะเคยได้เห็นคำว่า DR กันมาบ้างอย่างแน่นอน แล้วสงสัยกันบ้างไหมว่า DR คืออะไร? เนื่องด้วยเทรนด์ระยะหลังมานี้ มีนักลงทุนในไทยไม่น้อย ที่เริ่มเน้นกระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ แต่ก็เจอกับข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆในการลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเจ้า DR ที่ว่านี่เอง ได้กลายมาเป็นหนึ่งในทางเลือกใหม่สำหรับนักลงทุนในยุคนี้ ทำให้ลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เรามาทำความรู้จักก่อนเริ่มลงทุนกันดีกว่าว่า DR คืออะไร?  

 

DR คืออะไร?

ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depository Receipts) หรือ DR คือ ตราสารที่ออกมาโดยมีหลักทรัพย์ต่างประเทศอ้างอิง (underlying asset)

DR คือ ตราสารที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้นต่างประเทศ หรือ ETF ในต่างประเทศได้ ผ่าน DR ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต.แล้ว นำมาเสนอขายให้กับนักลงทุนไทยในรูปแบบสกุลเงินบาท กลายเป็นทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งสำหรับนักลงทุนในไทย ให้สามารถได้รับโอกาสและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เสมือนกับการได้ลงทุนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในต่างประเทศนั้นเอง

สิ่งที่ควรรู้ คือ ผู้ออกตราสาร DR ไม่ใช่บริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ในต่างประเทศ แต่เป็นผู้ที่ถือหลักทรัพย์ต่างประเทศแทนนักลงทุน ส่วนนักลงทุนจะเป็นผู้ที่ถือครองตราสาร DR เสมือนกับการถือครองหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้นๆ ผ่านใบ DR ที่ได้รับไว้  ถือเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในไทย ให้สามารถซื้อขายด้วยเงินบาท อีกทั้งยังสามารถใช้บัญชีเดียวกันได้เช่นกันกับการซื้อขายหุ้นทั่วไปในไทยได้อีกด้วย

 

DR ของไทยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

(1) DR แบบฝาก

(2) DR แบบอ้างอิงสิทธิ

 

DR ทั้งสองประเภทแตกต่างกันตรงไหน ?

  1. DR แบบฝาก คือ ตราสารแสดงสิทธิของผู้ฝากทรัพย์สิน ซึ่งมีทรัพย์สินที่ฝากเป็นหลักทรัพย์ต่างประเทศ ก็คือผู้ลงทุนได้ฝากการลงทุนต่างประเทศไว้ ดังนั้น อัตราส่วนของ DR กับ underlying asset ต้องเท่ากับ 1 : 1 เท่านั้น ไม่สามารถแตกหน่วยย่อยของ DR ได้
  2. DR แบบอ้างอิงสิทธิ คือ ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง ซึ่งมีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหลักทรัพย์ต่างประเทศ มีการอ้างอิงสิทธิในผลประโยชน์ สามารถกำหนดในอัตราส่วน 1 : 1 หรือไม่ก็ได้ เช่น 1 หน่วย underlying asset : 100 หน่วย DR เป็นต้น

แต่สิ่งที่ DR ทั้งสองประเภทมีเหมือนกันก็คือ ผู้ออกและเสนอขาย DR (DR issuer)* จะต้องมีหลักทรัพย์ต่างประเทศอ้างอิงรองรับเต็มจำนวนเสมอ

*อาจเป็นบริษัทหลักทรัพย์หรือธนาคารพาณิชย์ก็ได้

สำหรับหลักทรัพย์ต่างประเทศที่สามารถนำมาเป็น underlying asset ได้แก่

- หุ้นต่างประเทศ

- กองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Foreign ETF:

Foreign Exchange Traded Fund)

- กองทุน Collective Investment Scheme (CIS) ต่างประเทศ และ

- REITs และ Infrastructure Fund ต่างประเทศ

ทั้งนี้หลักทรัพย์ต่างประเทศดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติด้านคุณภาพ เช่น ต้องมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE) หรือมีหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนเป็นที่ยอมรับของสำนักงาน ก.ล.ต. หรือเป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO)

 

การลงทุน DR ดีอย่างไร ?

ผลตอบแทนจากการลงทุนเสมือนถือครองหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้นๆโดยตรง ของผู้ที่ถือตราสาร DR คือ ผลตอบแทนที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนดังนี้

  1. กำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) ที่นักลงทุนจะได้รับ หากสามารถขาย DR ในราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อมาได้ ซึ่งหากทิศทางราคานั้นไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ นักลงทุนก็จะมีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน 
  2. เงินปันผล หรือ สิทธิประโยชน์ที่ได้จากหลักทรัพย์ต่างประเทศ เมื่อใดก็ตามที่หุ้นหรือ ETF ประกาศจ่ายเงินปันผล ผู้ถือตราสาร DR ก็จะได้รับเงินปันผลเช่นเดียวกัน แต่จะมีเงื่อนไขในการได้รับมา นั่นคือเงินปันผลจะถูกหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิ (ถ้ามี) ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้ไม่พลาดรายละเอียดสำคัญ เมื่อจะเริ่มต้นลงทุนใน DR

 

การลงทุน DR ให้ประโยชน์อย่างไร ?

ประโยชน์ของการลงทุน DR คือ ช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศ และ มอบประโยชน์ให้แก่นักลงทุน ดังนี้

ช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุน เหมาะเป็นอย่างยิ่งกับผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงของการลงทุน หรือเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ในต่างประเทศ

เลือกระยะเวลาการลงทุนได้ สามารถเลือกลงทุนระยะสั้น เพื่อสร้างโอกาสในการรับผลตอบแทนตามภาวะตลาด หรือสร้างการเติบโตของเงินลงทุนด้วยการลงทุนในระยะยาวก็ได้เช่นกัน

ใช้บัญชีซื้อขายหุ้นทั่วไปร่วมกับการซื้อขาย DR ได้ นักลงทุนไทยสามารถใช้บัญชีซื้อขายหุ้นทั่วไปในการซื้อขาย DR ในรูปสกุลเงินบาทได้ทันที ซึ่งช่วยลดภาระเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศให้กับนักลงทุน

 

การลงทุน DR มีค่าใช้จ่ายอะไรไหม ?

การลงทุน DR มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ

- ค่าธรรมเนียมซื้อขาย หรือ ค่าคอมมิชชัน ซึ่งจะเหมือนกับการซื้อขายหุ้นทั่วไป

- ค่าธรรมเนียมที่ผู้ออกอาจเรียกเก็บ ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่จ่ายสิทธิประโยชน์ เช่น เงินปันผล หรือ เก็บตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญารับฝาก DR ไว้

 

ควรเลือก DR อย่างไรดี ?

สิ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาการลงทุน DR คือ คุณสมบัติของหลักทรัพย์ที่สามารถนำมาออกเป็น DR ได้ ดังนี้

  1. ต้องเป็นหุ้นสามัญที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ
  2. ต้องเป็นหุ้นสามัญที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่ตั้งอยู่ในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และมีมูลค่าตามราคาตลาดเฉลี่ย 15 วันทำการย้อนหลังไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท
  3. ต้องเป็น ETF ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ตามที่ ก.ล.ต. กำหนดเท่านั้น

         อ่านมาถึงตรงนี้นักลงทุนน่าจะเข้าใจแล้วว่า DR คืออะไร เริ่มมีความสนใจจะลงทุน DR กันแล้วใช่ไหม? ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกสบายในการลงทุน อีกทั้งสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ แตกต่างกับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศด้วยตนเองอย่างสิ้นเชิง ทั้งหมดนี้ตอบโจทย์กับเหล่านักลงทุนยุคใหม่ที่สนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศด้วยตนเองได้อย่างง่ายดาย

         หากนักลงทุนสนใจการลงทุนใน DR บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มีทางเลือกใหม่นี้ให้กับนักลงทุน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://dr.yuanta.co.th และถ้าสงสัยอยู่ว่า DR คืออะไร หรือสนใจ ต้องการให้หยวนต้าดูแลและเป็นที่ปรึกษาการลงทุนของคุณ สามารถติดต่อสอบถามเราได้ทุกช่องทางการติดต่อได้เลย

09 - ปรึกษาผู้แนะนำ.jpg