ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหน้าใหม่หรือหน้าเก่า อาจเคยได้ยินคำว่า DR หุ้น หรือ Depository Receipts ผ่านตากันมาบ้างแล้ว อาจมีคำถามอยู่ภายในใจว่า DR หุ้น คืออะไร?

         เนื่องด้วยในเทรนด์ระยะหลังมานี้ มีนักลงทุนในไทยไม่น้อยคนเลย ที่เริ่มเน้นกระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น ก็เจอกับข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆในการลงทุนต่างประเทศ การลงทุนหุ้น DR ได้กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกใหม่สำหรับนักลงทุนในยุคนี้ ให้นักลงทุนสามารถลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นนั่นเอง แต่พอมาถึงจุดนี้ก็มีความสงสัยถัดไปสำหรับนักลงทุนอย่าง DR หุ้น แตกต่างจาก ลงทุนหุ้นต่างประเทศอย่างไร

         ดังนั้นก่อนอื่นเรามาเริ่มทำความรู้จักกับ DR หุ้น และ ลงทุนหุ้นต่างประเทศกันก่อนดีกว่า

 

DR คืออะไร?

DR ย่อมาจาก Depository Receipts หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ อธิบายโดยง่ายก็คือ ตราสารที่ออกมาโดยมีหลักทรัพย์ต่างประเทศอ้างอิง (underlying asset)

โดย DR ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้น หรือ ETF ในต่างประเทศได้ ผ่าน DR ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักงานก.ล.ต.แล้ว ให้นำมาเสนอขายให้กับนักลงทุนไทยในรูปแบบสกุลเงินบาท กลายเป็นทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งสำหรับนักลงทุนในไทย ให้สามารถได้รับโอกาสและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เสมือนกับการได้ลงทุนกับตลาดหลักทรัพย์ฯในต่างประเทศนั้นเอง

สิ่งที่ควรรู้ คือ ผู้ออกตราสาร DR ไม่ใช่บริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ในต่างประเทศ แต่เป็นผู้ที่ถือหลักทรัพย์ต่างประเทศแทนนักลงทุน ส่วนนักลงทุนจะเป็นผู้ที่ถือครองตราสาร DR เสมือนกับการถือครองหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้นๆ ผ่าน DR ที่ได้รับไว้

ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนในไทย ให้สามารถซื้อขายด้วยเงินบาท อีกทั้งยังสามารถใช้บัญชีเดียวกันกับการซื้อขายหุ้นทั่วไปในไทยได้อีกด้วย

โดย DR หุ้น ของไทยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. DR แบบฝาก คือ ตราสารแสดงสิทธิของผู้ฝากทรัพย์สิน ซึ่งมีทรัพย์สินที่ฝากเป็นหลักทรัพย์ต่างประเทศ ก็คือผู้ลงทุนได้ฝากการลงทุนต่างประเทศไว้ ดังนั้น อัตราส่วนของ DR กับ underlying asset ต้องเท่ากับ 1 : 1 เท่านั้น ไม่สามารถแตกหน่วยย่อยของ DR ได้
  2. DR แบบอ้างอิงสิทธิ คือ ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง ซึ่งมีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งมีการอ้างอิงสิทธิในผลประโยชน์ จะสามารถกำหนดในอัตราส่วน 1 : 1 หรือไม่ก็ได้ เช่น 1 หน่วย underlying asset : 100 หน่วย DR เป็นต้น

         แต่สิ่งที่ DR ทั้งสองประเภทมีเหมือนกันก็คือ ผู้ออกและเสนอขาย DR (DR issuer)* จะต้องมีหลักทรัพย์ต่างประเทศอ้างอิงรองรับเต็มจำนวนเสมอ

*อาจเป็นบริษัทหลักทรัพย์หรือธนาคารพาณิชย์ก็ได้

 

การลงทุนหุ้นต่างประเทศ คืออะไร

         การลงทุนหุ้นต่างประเทศ นับเป็นอีกทางเลือกสำหรับนักลงทุน ที่เข้ามาช่วยกระจายความเสี่ยงในกรณีที่ตลาดหุ้นในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ซึ่งการลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง จำเป็นจะต้องเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศ แล้วแลกเงินเป็นสกุลเงินของประเทศที่เราต้องการจะลงทุน และทำการซื้อขายได้ในเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศนั้น ๆ

         ข้อควรพิจารณาก่อนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศถึงแม้จะช่วยกระจายความเสี่ยงในกรณีข้างต้น แต่นักลงทุนก็ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศด้วย เช่น

  1. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเป็นการเทรดหุ้นต่างประเทศ จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนสกุลเงินเพื่อใช้สำหรับการลงทุนในประเทศปลายทางอยู่แล้ว โดยอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามค่าเงินตราของแต่ละประเทศ
  2. .ความเสี่ยงจากความผันผวนในการลงทุนในแต่ละประเทศ ย่อมมีสภาวะและนโยบายทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดภาพรวมของตลาดการลงทุนในประเทศนั้นๆด้วย
  3. ความเสี่ยงจากภาษีอากร หากเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องถูกนำมาคำนวณเพื่อชำระภาษีด้วยเช่นกัน ซึ่งเงินได้ที่เกี่ยวข้องอาจรวมถึง 1) Capital Gain หรือเงินได้จากส่วนต่างราคาจากการลงทุนในหลักทรัพย์ 2) เงินได้จากเงินปันผล และ 3) เงินได้จากดอกเบี้ยรับ เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้ส่วนบุคคลเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย

         นอกจากความเสี่ยงข้างต้นแล้วยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงอยู่ เช่น ปัญหาด้านการสื่อสารและข้อมูลที่เป็นภาษาต่างประเทศ ความเสี่ยงจากความแตกต่างของ Time Zone  หรือแม้กระทั่ง ความเสี่ยงเกี่ยวกับความรวดเร็วจากการได้รับข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น

 

การลงทุน DR หุ้น แตกต่างจากการลงทุนหุ้นในต่างประเทศเองอย่างไร ?

การลงทุน DR จะเป็นเสมือนการถือครองหลักทรัพย์ต่างประเทศ จะได้รับความสะดวกที่มากกว่าการที่นักลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศด้วยตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการซื้อขาย เช่น DR จะซื้อขายได้สะดวกกว่าหุ้นทั่วไป เพราะ DR นั้นซื้อขายได้ขั้นต่ำครั้งละ 1 DR (1 หน่วย) ขณะที่หุ้นทั่วไปจะซื้อขายกันขั้นต่ำที่ Board Lot ละ 100 หุ้น เป็นต้น

 

ลงทุนหุ้น DR หรือ ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ง่ายกว่าที่คิด กับ บล.หยวนต้า

         ถึงแม้ว่า การลงทุนใน DR หุ้น หรือ การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ จะเต็มไปด้วยเงื่อนไขและความเสี่ยงที่ควรรู้และพึงระมัดระวังอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน อาจเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับนักลงทุนที่ยังไม่คุ้นเคยการลงทุนประเภทนี้ แต่ถ้าคุณอยากที่จะเริ่มลงทุน DR หุ้น หรือ ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ทาง บล.หยวนต้า มีบริการที่จะช่วยให้การลงทุนใน DR หุ้น หรือ การลงทุนในหุ้นต่างประเทศของผู้ลงทุนเป็นเรื่องง่าย ทั้งยังมีเครื่องมือวิเคราะห์ที่ทันสมัย มีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำกลยุทธ์การจัดพอร์ตที่ใช่ให้กับคุณ

         หากนักลงทุนสนใจการลงทุนใน DR หุ้น หรือ ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มีทางเลือกใหม่นี้ให้แก่นักลงทุน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://dr.yuanta.co.th และถ้าสงสัยอยู่ว่า DR คือ อะไร หรือสนใจ ต้องการให้หยวนต้าดูแลและเป็นที่ปรึกษาการลงทุนของคุณ สามารถติดต่อสอบถามเราได้ทุกช่องทางการติดต่อได้เลย