ลงทุนแบบก้าวทันโลก
“ในปัจจุบันโลกมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ส่งผลในธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวทิศทางในการดำเนินงานธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น“
การเติบโตของธุรกิจในอุตสาหกรรมโดยทั่วไป มักมีลักษณะการเติบโตเป็นรูปตัว S หรือ S-Curve โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะเติบโตอย่างช้าๆในช่วงแรก (Initial slow growth state): ธุรกิจช่วงระยะแรกที่ยังไม่มีฐานลูกค้า ผู้บริโภคยังไม่ค่อยรู้จักสินค้าและบริการ มักอยู่ในช่วงทดลองตลาด เส้น S-curveจึงมีความชันเพียงเล็กน้อย
- ช่วงเติบโตเร็ว (Rapid growth state): ธุรกิจหลังจากผ่านช่วงระยะแรก เมื่อผู้บริโภคเริ่มรู้จักสินค้าและบริการมากขึ้นทำให้มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว เส้น S-curveจึงมีความชันอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงแรก
- ช่วงเติบโตช้า (Slow growth state): หลังจากธุรกิจมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทไม่สามารถหาฐานลูกค้าหรือผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้เพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วเหมือนเดิม บริษัทจึงเริ่มมีอัตราการเติบโตที่ช้าลง
- ช่วงถดถอย (Declining state): บริษัทอาจจะเริ่มมีคู่แข่งทางการค้ามากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลาย รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้รายได้และกำไรของบริษัทเริ่มลดลงนั่นเอง
จึงจะเห็นได้ว่าเส้น S-curve จะมีช่วงเวลาในการเติบโตระยะหนึ่งแล้วเข้าสู่ช่วงการเติบโตที่น้อยลง เราจึงต้องหาเส้น S-curve เส้นใหม่เข้ามาแทนที่ หรือที่เรียกว่า New S-curve เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบันให้มีการเติบโตในระยะยาว
First S-curve และ New S-curve แตกต่างกันอย่างไร?
“First S-curve เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อยอดให้ก้าวกระโดด
“New S-curve อุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดในอนาคต เพื่อขับเคลื่นเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve)
- อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive)
เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ซึ่งเป็นมาตรการระยาวที่จะมีการปรับโครงสร้างด้านการผลิต ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคบริการของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดการสร้างงานคุณภาพ และมีการสนับสนุนเศรษฐกิจภูมิภาคอย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่อง และเกิดความยั่งยืน เพื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และการสนับสนุนนโยบายจากภาครัฐของรถยนต์ EV ทำให้ส่งผลดีต่อกลุ่มยานยนต์ เช่น BYD, Tesla, Nio เป็นต้น
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)
เป็นการนำอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่ติดตั้งระบบสมองกลฝังตัว เพื่อให้มีคุณสมบัติใหม่ และสามารถสื่อสารระหว่างกันอย่างอิสระผ่านอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำไปใช้ประยุกต์กับอะไร โดยแบ่งออกเป็น พัฒนาและทดสอบซอฟแวร์ อุปกรณ์โทรคมนาคม อุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ ตัวอย่างบริษัทที่ใช้ Apple, Samsung, Google เป็นต้น
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)
เป็นที่นิยมและเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างผลกำไรให้แก่ประเทศนั้นๆ ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากมาย โดยประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้รับรางวัลมากมาย ราคาที่เป็นมิตร และการบริการที่ประทับใจ เช่น โรงแรม ท่าอากาศยาน โรงพยาบาล
- การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)
เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ตั้งแต่การการประยุกต์ เทคโนโลยีที่ใช้ในระบบชีววิทยา สิ่งมีชีวิต ไปจนถึงการมุ่งเน้นเทคนิคเชิงพันธุวิศวกรรม ชีวโมเลกุล และ กระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เฉพาะเจาะจง เพื่อใช้กับการผลิตเพาะพันธุ์พืชผลทางการเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด ฝ้าย และคาโนลา สามารถสร้างรายได้และกำไรเข้าสู่ประเทศได้อย่างมากมาย
- อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)
อุตสาหกรรมนี้เกิดจากคำถามที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มผลผลิตทางอาหารให้เพียงพอ จึงเกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างแหล่งอาหารใหม่ ที่เพิ่มผลผลิตได้เร็วกว่า ใช้พื้นที่เพาะเลี้ยงน้อยกว่าการทำปศุสัตว์แบบเก่า ลดทรัพยากรอาหารในการเลี้ยงดู ที่สำคัญยังให้คุณค่าทางโภชนาการสูงและดีต่อความยั่งยืนของโลก เพราะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการสร้างขยะเหลือทิ้ง (Zero Waste) จากกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งในปัจจุบันมีการบัญญัติศัพท์ขึ้นและเรียกแหล่งอาหารใหม่ที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างอาหารว่า “อาหารแห่งอนาคต” เช่น Impossible Foods, Beyond Meat, CPF
อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve)
- อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) เครื่องจักรที่ถูกใช้งานในกระบวนการต่างๆ ของอุตสาหกรรม มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ควบคุมด้วยมนุษย์และระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์อุตสาหกรรมมักมีการเปลี่ยนแปลงตามการทำงานของโรงงานเป็นหลัก เช่น, Yotel, Medical – Robot Surgeons, SPREAD Co. – Robot Farm
- อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) การเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน และขนส่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก จากผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจของสายการบิน เนื่องมาจากการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เพิ่มขึ้น ประชาชนใช้การเดินทางอากาศมากขึ้น ทำให้การบินพาณิชย์ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจการสาธารณูปโภคและบริการเพื่อการขนส่ง, ศูนย์รวมกิจการโลจิสติกส์ทันสมัย เช่น Singapore Airlines, FedEx, Emirates Airlines
- อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ มีบทบาท สำคัญระดับโลก แม้การผลิตมีต้นทุนสูงแต่หลายประเทศตระหนักถึงประโยชน์ที่มีต่อสภาพแวดล้อมและมีนโยบาย กระตุ้นการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อเป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 ) ทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น DuPont, Novozymes, Amyris
- อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital)
อุตสาหกรรมการผลิตและบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล หรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล แบ่งออกเป็น กลุ่มฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์, กลุ่มการสื่อสาร โดยถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน เช่น Intel, Adobe Inc., Microsoft
- อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
อุตสาหกรรมใหม่ต่อยอดจากธุรกิจการรักษาพยาบาล ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากการขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก เพื่อการส่งออกสู่การขับเคลื่อนด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
โดยสรุปแล้วอุตสาหกรรมที่มีในปัจจุบันและในอนาคตล้วนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความจำเป็นในการก้าวหน้าของผู้คน สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในด้านอุตสาหกรรมที่กำลังมีแน้วโน้มเติบโตในอนาคต ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศก็สามารถเลือกลงทุนได้ในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มี เช่น บริษัทในประเทศไทยสามารถซื้อขายได้ผ่านตลาดหลักทรัพย์ หรือหุ้นต่างประเทศ สามารถซื้อขายได้ผ่านทาง DR จากผู้ออกตราสาร ซื้อขายสะดวก รวดเร็ว ง่าย เหมือนหุ้นไทย ใช้เงินบาท ไม่ต้องเสียภาษี และเงินปันผลจะถูกหัก ณ ที่จ่ายเพียง10% โดยไม่ต้องนำไปคำนวณกับภาษี